เพอร์มาคัลเชอร์  (Permaculture) อาจยังฟังดูเป็นคำศัพท์ใหม่สำหรับคนไทย หากเราลองค้นในกูเกิ้ลเป็นภาษาไทย อาจยังไม่เจอเนื้อหาความรู้เกี่ยวกับเพอร์มาคัลเชอร์มากนัก แต่ถ้าพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียง หรือเกษตรผสมผสาน คนไทยคงจะฟังดูคุ้นหูมากกว่า

เพอร์มาคัลเชอร์ ก็ไม่ได้มีแนวคิดแตกต่างไปจากสองคำไทยด้านบนมากนัก เรียกได้ว่าเป็นคำที่ชาวต่างชาติเริ่มนำมาให้ได้รู้จักกัน ตั้งแต่ราวปีค.ศ. 1978 โดย Bill Mollison ชาวออสเตรเลีย และ Masanobu Fukuoka ชาวญี่ปุ่น ได้ตั้งคำถามและคิดค้นแนวคิดนี้ ในเวลาไล่เลี่ยกัน ในสถานที่ห่างกันไกลคนละทวีป เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของโลกและของสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่พวกเขาคุ้นเคยใกล้ชิด กำลังค่อยๆเปลี่ยนไปในแบบที่พวกเขาคิดว่าไม่ควรจะเป็น

แนวคิดของเพอร์มาคัลเชอร์ มาจากคำว่า Permanent Agriculture และ Permanent Culture คือการทำการเกษตรแบบถาวร และในขณะเดียวกันก็เป็นการรักษาวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป

แนวคิดดังกล่าว จึงเป็นการอนุรักษ์และปรับใช้วิถีชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่ ที่มีสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป ให้อยู่ได้ด้วยการผลิตปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ให้ได้ด้วยตัวเองให้มากที่สุด ไม่ว่าสภาพสังคมและเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันจะเปลี่ยนแปลงไปมากเท่าใดก็ตาม

ในภาพรวมนั้น ผู้ปฏิบัติเพอร์มาคัลเชอร์ จึงดูเหมือนปลาที่ว่ายทวนกระแสน้ำ ในโลกที่ทุกวันนี้ มนุษย์เราห่างไกลจากการผลิตปัจจัย 4 ด้วยตัวเองออกไปทุกที

นั่นหมายถึง เพอร์มาคัลเชอร์ คือระบบหลักการออกแบบการเกษตรและสังคม ที่เลียนแบบมาจากระบบนิเวศน์ธรรมชาติ หรือไม่ก็เป็นการนำรูปแบบและลักษณะที่พบเห็นได้จริงในธรรมชาติ มาใช้เลยโดยตรงโดยไม่ต้องสร้างเลียนแบบขึ้นใหม่

เพอร์มาคัลเชอร์จึงครอบคลุมเนื้อหาที่หลากหลาย เช่น การออกแบบเชิงนิเวศน์ นิเวศน์วิศวกรรม การออกแบบที่อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างและการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ที่จะนำไปสู่สถาปัตยกรรมอย่างยั่งยืน การสร้างที่อยู่อาศัยที่ซ่อมบำรุงรักษาตัวเองและสร้างตัวเองขึ้นใหม่ได้ และระบบการเกษตรที่ยืมรูปแบบนิเวศน์ในธรรมชาติมาใช้

เป็นวิถีชีวิตที่เน้นการพึ่งพาตัวเอง และเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด สุดๆไปเลยทีเดียว (บ้าหรือเปล่าก็ต้องมาลองดูกัน)